ประวัติกรุงธนบุรี



กรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งที่สามของไทย ระหว่าง พ.ศ.2310 - 2325 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมืองนี้มีชื่อว่า ธนบุรีศรีมหาสมุทร แต่ชาวตะวันตกมักเรียกกันว่า บางกอก ซึ่งอาจมาจาก บางเกาะ ด้วยสภาพพื้นที่เป็นรูปโค้งคล้ายเกือกม้ามองดูเหมือนเกาะ ปี พ.ศ. 1976 ในรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ธนบุรีมีฐานะเป็นเมืองท่านนอนสำหรับเก็บภาษีอากร ผู้ปกครองเขตนี้เรียกชื่อว่า “นายพระขนอนทณบุรี” ปี พ.ศ. 2065 ในรัชกาลของพระชัยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้โปรดให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างปากคลองบางกอกน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม บริเวณหน้าวัดอรุณราชวราราม คลองลัดนี้กว้างขึ้นจนเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ เกิดความสะดวกแก่เรือสินค้าที่จะล่องไปอยุธยา ทำให้ความสำคัญของธนบุรีทวีขึ้นถึง พ.ศ.2100 ในปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงสามารถกู้อิสรภาพคืนมาได้ภายในเวลา 6 - 7 เดือน เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาเสียหายเกินกว่าจะบูรณะให้กลับดีดังเดิมได้ ประกอบกับกำลังทัพของพระองค์มีไม่พอเพียงที่จะรักษาพระนครได้อีกต่อไป จึงอพยพผู้คนมาสร้างราชธานีใหม่ขึ้นที่ธนบุรี ศูนย์กลางของกรุงธนบุรีแต่เดิมนั้นเป็นชุมชนเก่าตั้งอยู่แถบพระราชวังเดิม (กองทัพเรือในปัจจุบัน) ที่นี่มีป้อมสำคัญ ชื่อ ป้อมชื่อวิชัยประสิทธิ์ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้สร้างขึ้นที่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2208 ป้อมที่สร้างขึ้นโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส แต่เมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์ พระเพทราชา พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อมาโปรดให้จับกุมทหารชาวฝรั่งเศสและรื้อป้อมนั้นลงเสีย สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้สร้างพระราชวังของพระองค์ขึ้นในที่ซึ่งเคยเป็นป้อมวิชัยประสิทธิ์ ตลอดระยะเวลา 14 ปี ของรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี พระองค์ได้ทรงฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ รวบรวมแผ่นดินและผู้คนให้เป็นปึกแผ่น ราชธานีจึงรุ่งเรือง มั่งคั่ง และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธ์ธัญญาหาร กรุงธนบุรีจึงเป็นศูนย์อำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองสามารถที่จะแทนที่กรุงศรีอยุธยาได้อย่างสมบูรณ์ หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งราชวงศ์จักรี โปรดให้ย้ายราชธานีไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและตั้งกรุงเทพมหานคร ขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่ นับแต่นั้นมาธนบุรีจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แม้ว่ากรุงธนบุรีจะเป็นราชธานีอยู่เพียง 15 ปี ดินแดนแห่งนี้เป็นแหล่งชุมชนเก่าแก่มานาน ทั้งยังมีความสำคัญทางด้านเศรษฐศาสตร์มาก่อนเนื่องจากเคยเป็นเมืองหน้าด้านสำหรับเก็บภาษี เมืองนี้มีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก นอกจากนั้นธนบุรียังเป็นแหล่งรวมของผู้คนหลายหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม อาทิเช่น ชาวจีน มอญ อินเดีย ญี่ปุ่น และชาวฮอลันดา ซึ่งเข้ามาทำการค้าตั้งแต่สมัยอยุธยาหลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ คลังสินค้าของฮอลันดาซึ่งตั้งอยู่ในเขตบางปะกอก ซึ่งเรียกว่านิวอัมสเตอร์ดัม
พื้นสวนฝั่งธนบุรี
ฝั่งธนบุรีในอดีตเป็นแหล่งที่มีพันธุ์ผลไม้ชั้นเยี่ยม มีคุณภาพดี รสชาติอร่อยหลากหลาย เช่น ลิ้นจี่ บางอ้อ บางขุนเทียน ส้ม บางมด ลำไย บางน้ำชน ทุเรียน บางบน (แถบบางกอกน้อย) มะปราง ท่าอิฐ เงาะ บางยี่ขัน มะไฟ ส้มโอ มะม่วง ชมพูสาแหรก หมาก ละมุด ฯลฯ ชาวสวนฝั่งธนบุรีนิยมยกร่องสวน มีระบบระบายน้ำผ่านลำคลอง ซึ่งถ่ายเทเข้าออกได้เสมอ พื้นที่การเกษตรปัจจุบันมีเหลือ 5 เขต เขตตลิ่งชัน เหลือพื้นที่เกษตรกรรม 20 % กระท้อน มะไฟ แก้วมังกร ชมพู่ เขตทวีวัฒนา เหลือพื้นที่เกษตรกรรม 20 % ผักต่างๆ กล้วยไม้ เขตภาษีเจริญ เหลือพื้นที่เกษตรกรรม 10.85 % ผักต่างๆ ไม้ดอกไม้ประดับ กล้วยไม้ เขตบางกอกน้อย เหลือพื้นที่เกษตรกรรม 2 % มะม่วง มะไฟ กล้วย เขตบางขุนเทียน ผลไม้ 20 % ส้มเขียวหวาน มะม่วงนวลจันทร์ ฝรั่ง มะพร้าวน้ำหอม บ่อกุ้ง บ่อปลา 50 %
การสถาปนากรุงธนบุรี
การสถาปนากรุงธนบุรี หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชสำเร็จในปี พ.ศ. 2310 ทรงมีพระราชดำริว่ากรุง ศรีอยุธยามีสภาพทรุดโทรมมาก ไม่สามารถซ่อมแซมฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพเดิมได้ จึงทรงตัดสินพระทัยสร้าง ราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เนื่องจากเมืองธนบุรีมีชัยภูมิที่ดี เป็นเมืองหน้าด่านชายทะเล ควบคุมเส้นทางเดินเรือเข้าออก ประกอบกับเป็นเมืองที่มีป้อมปราการ และวัดวาอารามอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาก่อสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นเมืองขนาดย่อมซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะรักษาไว้ได้ และอยู่ปากแม่น้ำ หากเพลี่ยงพล้ำไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้จริงๆ ก็สามารถหลบหลีกศัตรูออกสู่ทะเล กลับไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้โดยสะดวก อีกทั้งตั้งอยู่บริเวณที่มีลำน้ำลึกใกล้ทะเล ถ้าข้าศึกไม่มีทัพเรือที่เข้มแข็งแล้วก็ยากที่จะตีเมืองธนบุรีได้
การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีจำเป็นต้องขยายพื้นที่เพื่อรองรับประชาชนที่หนีภัยสงครามมา และปรับปรุงให้เหมาะสมทางยุทธศาสตร์มากขึ้น ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเมืองไปทางทิศเหนือจนจรดคลองบางกอกน้อย พร้อมกับสร้างกำแพงเมืองตามแนวคลองขุดใหม่มีชื่อเรียกเป็นตอนๆ ว่า คลองบ้านขมิ้น คลองบ้านช่างหล่อ คลองบ้านหม้อ คลองวัดท้ายตลาด ส่วนทางทิศตะวันออกขยายไปจรดคลองคูเมืองที่ขุดขึ้นใหม่ (ปัจจุบันเรียกว่า"คลองหลอด") ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมืองแล้วสร้างกำแพงเมืองขึ้นตามแนวคลองคูเมือง (กำแพงเมืองนี้ต่อมาได้ถูกรื้อลง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงขยายแนวกำแพงเมืองออกไปตามแนวคลองโอ่งอ่าง และคลองบางลำภู) ส่วนป้อมวิไชยเยนทร์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ป้อมวิไชยประสิทธิ์" พร้อมทั้งให้ขุดที่สวนเดิมเปลี่ยนเป็นท้องนานอกคูเมืองทั้ง 2 ฟากซึ่งเรียกว่า "ทะเลตม" ไว้สำหรับเป็นที่นาใกล้พระนคร



สำหรับขอบเขตของราชธานีแห่งใหม่นี้ ครอบคลุมสองฝั่งน้ำ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาตัดผ่านกลางเมือง พื้นที่ในกำแพงเมือง ฝั่งตะวันตกเริ่มตั้งแต่เขตเมืองธนบุรี เดิมริมคลองบางกอกใหญ่ ไปจนถึงบริเวณหลังวัดบางหว้าน้อย (วัดอินทาราม) ริมคลองบางกอกน้อย ส่วนฝั่งตะวันออกเริ่มตั้งแต่ศาลเทพารักษ์หัวโชค (เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร) เลียบตามแนวคูเมือง (คลองคูเมืองบริเวณหลังกระทรวงมหาดไทย) ไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด โดยภายในกำแพงเมืองธนบุรีเดิม เป็นที่ตั้งของพระราชวังกรุงธนบุรี

กรุงธนบุรีเป็นราชธานีเพียง 15 ปี หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตก มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พระราชวังกรุงธนบุรีว่างลง กรุงธนบุรีจึงถูกลดความสำคัญ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับพระราชวังกรุงธนบุรี ได้กลายเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กองทัพเรือ ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ และภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือจนถึงปัจจุบัน


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

About this blog

Wellcome To My Blog





Followers